ประวัติความเป็นมา

ความเป็นมา (หลักสูตร 5 ปี)

          หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย (หลักสูตร 5 ปี) ประกาศใช้ เมื่อ พ.ศ.2547 ชื่อหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต (ภาษาไทย) หลักสูตรนี้ปรับเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาความก้าวหน้าทางวิชาการและเทคโนโลยี ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงทางสังคม หลังจากผลิตบัณฑิตจำนวน 2 รุ่น ได้ พัฒนาหลักสูตรใหม่เป็นหลักสูตร 5 ปี ชื่อหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย พุทธศักราช 2549 เพื่อพัฒนาบัณฑิตวิชาชีพครูให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ต่อมาเมื่อถึงวาระครบรอบการพัฒนาหรือปรับปรุงหลักสูตร จึงได้ปรับปรุงเป็นหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย (5 ปี) หลักสูตรปรับปรุง พุทธศักราช 2554 ในปีการศึกษา 2558 เมื่อถึงวาระครบรอบการพัฒนาหรือปรับปรุงหลักสูตรด้วยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ปรับปรุงโครงสร้างหลักสูตรครุศาสตร์ -ศึกษาศาสตร์ (มคอ.1) โดยให้เพิ่มเติมกลุ่มวิชาการสอนวิชาเอก จึงได้ปรับปรุงเป็นหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย (หลักสูตร 5 ปี) เปิดสอนในปีการศึกษา 2559 และปีการศึกษา 2561 ได้ พัฒนาเป็นหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย (หลักสูตร 4 ปี) ซึ่งเป็นหลักสูตรอิงสมรรถนะ รายวิชาในทุกกลุ่มวิชาเป็นรายวิชาที่อาจารย์ต้องจัดการเรียนรู้ ให้นักศึกษามี สมรรถนะตามที่ หลักสูตรกำหนด นอกจากนี้ หลักสูตรกำหนดให้นักศึกษาฝึกประสบการณ์ วิชาชีพครู ตั้งแต่ชั้นปี 1-4 ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวจะใช้จัดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2562

ความเป็นมา (หลักสูตร 4 ปี)

          ปีพุทธศักราช 2562 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ความเป็นสากลอย่างสมบูรณ์ สถาบันอุดมศึกษาซึ่งเป็นสถาบันหลักที่ทำหน้าที่ผลิตครู จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการศึกษาของประเทศ รัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่โอเดลประเทศไทย 4.0 ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เพื่อให้ประเทศไทยมีความั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนภายใต้บริบทของการปฏิวัติอุตสาหกรรม สิ่งที่จะต้องประสบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ ภาวะการแข่งขัน การทำงานร่วมกับผู้อื่น การเรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่าง ตลอดจนการแสวงหาพัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้กำลังจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พบว่า ปัญหาของนักเรียนไทย คือ ขาดความเข้มแข็งในด้านความรู้และทักษะพื้นฐานในการทำงานด้านการใช้ภาษาและการคิดขั้นสูง (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2560: 48)

          ในการพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะกับการพัฒนานวัตกรที่สอดรับกับการศึกษายุค 4.0 และศตวรรษที่ 21 ควรมีลักษณะยืดหยุ่นและตอบสนองความต้องการของผู้เรียนเป็นรายบุคคล เช่น หลักสูตรแบบโมดูลที่ออกแบบเป็นหน่วยการเรียนที่มีลักษณะเบ็ดเสร็จในตนเองและเน้นสมรรถนะของผู้เรียนเป็นสำคัญ (วิชัย วงษ์ใหญ่, 2554) บูรณาการข้ามสาขาวิชา เน้นแก่นความรู้ที่สำคัญ แนวคิดหลัก เน้นการพัฒนาทักษะการคิดขั้นสูงและทักษะการประยุกต์ใช้ความรู้ (สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์และคณะ, 2556; Wangner, 2012) รวมถึงพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับยุค 4.0 เช่น การคิดวิเคราะห์ การคิดแก้ปัญหา การคิดสร้างสรรค์และสร้างนวัตกรรม การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ดังนั้น หลักสูตรเน้นสมรรถนะจึงเหมาะกับการศึกษายุค 4.0

          ความต่อเนื่องของแนวทางในการพัฒนาประเทศชาติมีความสอดคล้องกันอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11-12 ให้ความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมสู่ยุคโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะการพัฒนาประเทศในระยะแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) อยู่ในช่วงเวลาเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ประเทศไทยมีการเตรียมความพร้อมในหลายด้าน เช่น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทั้งทางด้านการศึกษา ทักษะด้านภาษา ทักษะฝีมือแรงงาน รวมถึงการพัฒนากลไกต่างๆ เป็นต้น (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2560) ซึ่งจุดเน้นของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนามนุษย์โดยตรง ดังที่ แผนการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ.2560 – 2579) มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาคนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสและความเสมอภาคในการศึกษาที่มีคุณภาพ พัฒนาระบบการบริหารจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ พัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะในการทำงานที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดงานและ การพัฒนาประเทศ (สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, 2560: ก)

          ด้วยเหตุนี้จึงควรผลิตครูผู้สอนภาษาไทยที่มีความรู้ความสามารถทางวิชาการ มีจิตวิญญาณความเป็นครู ตระหนักถึงความสำคัญของภาษาไทย รวมทั้งผลิตครูที่มีประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอนและการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ ตลอดจนเรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมของผู้อื่นมีทัศนคติและดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีความสุข

รหัสและชื่อหลักสูตร

รหัสหลักสูตร : 254716411007377
ภาษาไทย : หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย
ภาษาอังกฤษ : Bachelor of Education Program in Thai

ชื่อปริญญาและสาขาวิชา

ชื่อเต็ม (ภาษาไทย) : ครุศาสตรบัณฑิต(ภาษาไทย)
ชื่อย่อ (ภาษาไทย) : ค.บ. (ภาษาไทย)
ชื่อเต็ม (ภาษาอังกฤษ) : Bachelor of Education Program in Thai
ชื่อย่อ (ภาษาอังกฤษ) : B.Ed. (Thai)

อาจารย์ประจำหลักสูตร

อาจารย์นิดาริน จุลวรรณ

ประธานหลักสูตร

อาจารย์กมลทิพย์ สมบูรณ์พงษ์

กรรมการหลักสูตร

อาจารย์กมลทิพย์ กาลพันธ์

กรรมการหลักสูตร

ว่าที่ร้อยตรีหญิง สร้อยสุดา ไชยเหล็ก

กรรมการหลักสูตร

อาจารย์วิภาพรรณ นำอุทิศ

กรรมการและเลขานุการหลักสูตร

แผนการเรียน

          หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย เป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี ตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขาครุศาสตร์และสาขาศึกษาศาสตร์ พ.ศ.2561 และเป็นไปตามข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ พ.ศ.2558 จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร ไม่น้อยกว่า 139 หน่วยกิต

ข้อมูลนักศึกษา

คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา

      1. สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าจากสถานศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการรับรองในทุกสาขาและมีคุณสมบัติตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดหรือข้อบังคับของมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาโดยมีการสอบวัดความรู้พื้นฐาน/การประเมินความรู้ และสอบสัมภาษณ์เพื่อประเมินคุณลักษณะความเป็นครูอย่างเป็นระบบ
      2. มีการสอบวัดแววความเป็นครูตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด
      3. มีการสอบภาษาอังกฤษตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด
      4. มีคุณสมบัติอื่นตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ว่าด้วยการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรี พ.ศ.2558 หมวด 1 การรับเข้าศึกษา

กรณีที่มีหลักสูตรเทียบโอน ดังนี้
      1. สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า
      2. สำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)
      3. มีคุณสมบัติอื่นครบถ้วนตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ว่าด้วยการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรี พ.ศ.2560

แผนการรับนักศึกษา
และผู้สำเร็จการศึกษาในระยะ 5 ปี

จำนวนนักศึกษาแต่ละปีการศึกษา 30 คน

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โรงเรียนหน่วยฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู